
(23 ก.ค. 61) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาภายในปี ค.ศ. 2030 และการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่าย Associated Schools Project Network (ASPnet) เพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้อำนวยการสถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้รับเชิญให้กล่าวบรรยายพิเศษ เกี่ยวกับการพัมนาการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม
ดร.ปรียานุช กล่าวว่า การจะพัฒนาการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านและศักยภาพที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นไต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดหรือ Mindset ก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ประเทศในตะวันตกกำลังให้ความสำคัญมาก อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ที่โดยปกติมักให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและตัวเลข แต่ได้มีรายงานออกมาในปี 2015 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ(SDGs) ว่า การจะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต้องปรับที่ Mindset ของคนก่อน เมื่อคนมี Mindset ที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะเปลี่ยนวิธีการทำงานเองโดยธรรมชาติ
ทางด้านกลุ่มประเทศยุโรป ในขณะนี้กำลังมุ่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการศึกษาเชิงคุณค่าหรือ Value Education และต้องเป็น Transformation Learning เพื่อสร้าง Mindset ให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกก่อนที่จะทำการฝึกทักษะ เพราะหากมุ่งแต่ทักษะเพียงอย่างเดียวจะทำให้การพัฒนาเป็นไปแบบเดิม ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ในส่วนของประเทศไทย มีแนวคิดด้านการพัฒนามนุษย์เชิงคุณค่าเช่นนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ที่ทรงเน้นให้ประชากรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ใช้ชีวิตอย่างสมดุล ด้วยการตัดสินใจและลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ตามหลักคิดของความพอเพียง ซึ่งประเทศไทยมีความชัดเจนในเชิงนโยบายในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบการทำงานเพื่อบรรลุ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยแต่ละประเทศอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แต่วิธีการของประเทศไทยคือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การปฏิวัติการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเรียนการสอนแบบ Transformation Learning นั้น เน้นเรื่องทักษะ ความรู้ ความสามารถ ควบคู่ไปกับคุณธรรม แต่เรื่องคุณธรรมนั้นต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ พูดง่าย ๆ ว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงค่อยเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะเสริมเข้าไป เช่น หากต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดอกอัญชันในท้องถิ่น ต้องรู้จักคุณค่า, ประโยชน์ต่อชุมชนและความสำคัญด้านต่าง ๆ เช่น ในเชิงวัฒนธรรมก่อน จึงจะมองภาพการพัฒนาได้ลึกและกว้างไกลยิ่งขึ้น
ประเทศตะวันตกมองว่าการพัฒนาความรู้และคุณธรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยคิดถึงสิ่งประเสริฐล้ำกว่านั้น คือ หลักสามประการ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้มีความสุขอย่าง “สมดุล”
เราสามารถนำหลักสามประการนี้ไปปรับใช้กับการศึกษาได้ เช่น หากจะไปทัศนศึกษา การมีความพอประมาณ คือการวางแผนไปในที่เหมาะกับกำลังทรัพย์และศักยภาพ ซึ่งบางทีในท้องถิ่นของเราอาจจะมีแหล่งความรู้เพียงพอต่อการเยี่ยมชมศึกษา หรืออาจจะใช้ปัจจัยด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะตอนนี้เราก็สามารถศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผ่านระบบการสื่อสารที่สะดวกสบายได้แล้ว การมีเหตุผล คือการศึกษาหาความรู้เป็นหลัก ไม่ใช่การไปเที่ยว การมีภูมิคุ้มกัน คือหากเป็นรถทัวร์ ต้องตรวจสอบคุณภาพของรถ ความน่าเชื่อถือของบริษัท ดูประวัติคนขับ ไม่ใช่แค่การซื้อประกันที่เป็นการป้องกันแบบปลายเหตุ
ยิ่งไปกว่านั้น ความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ยังต้องส่งผลครอบคลุมทุกมิติ เฉกเช่นที่เวทีโลกเน้นย้ำว่าการพัฒนานั้นต้องก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลในทุกด้าน การพัฒนาที่รวดเร็วเกินไปและไม่มีความสมดุลก็เหมือนกับการวิ่งขึ้นบันไดไปเร็ว ๆ แต่ประมาท ไม่จับราวบันได ไม่รักษาสมดุลระหว่างสองเท้าให้ดี และเมื่อแต่ละคนเอาแต่วิ่งตามกันขึ้นไป พอคนข้างบนสะดุดล้มแล้วก็จะล้มตามกันทั้งหมด อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา
เราสามารถสอนเด็ก ๆ เรื่องชีวิตที่มีความสุขอย่างสมดุล คือ ชีวิตที่พอดี ๆ พอมีพอกิน ครอบครัวอบอุ่น มีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน แบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้กัน แต่เท่านั้นก็อาจจะไม่พอ เราอาจมีความสุขในบ้านของเรา แต่พอออกมาข้างนอกแล้วอากาศร้อนจนทนไม่ได้ มีมลภาวะทั่วทุกหนแห่ง แบบนี้ก็ไม่น่าอยู่ ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีคิดง่าย ๆ ที่จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของความสมดุลทางธรรมชาติมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ด้วย
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าหากเราสามารถรักษาสมดุลทั้งสี่มิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมไว้ได้ ก็แทบไม่ต้องพูดถึง SDGs ทั้ง 17 ข้อเลย โดยเราอาจ SDGs ใช้เป็นแค่ framework เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศนำทาง ก็จะสามารถบรรลุได้ทุกข้อ
ดร.ปรียานุช ทิ้งท้ายไว้ว่า จริง ๆ แล้วเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นทำการมานานแล้ว ก็เหลือเพียงแต่ละภาคส่วนต้อมาร่วมมือร่วมใจ ต้องหลอมรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด